วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556



กล้วยไม้..........ของฉัน

กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae เป็นไม้ตัดดอกยอดนิยม เนื่องจากมีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงาม เป็นไม้ตัดดอกที่มีอายุการใช้งานได้นาน กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เพราะเป็นไม้ส่งออกขายต่างประเทศทำรายได้เข้า ประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท มีการปลูกเลี้ยงอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผสมเกสร เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้ายไม้ เลี้ยงต้นกล้ายไม้จน กระทั่งให้ดอก ตัดดอกบรรจุหีบห่อและส่งออกเอง
แหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่สำคัญของโลกมี 2 แหล่งใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ลาตินอเมริกา กับเอเชียแปซิฟิค สำหรับในลาตินอเมริกาเป็น อาณาบริเวณอเมริกากลางติดต่อกับเขตเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง จากการค้นพบประเทศไทยมีพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญงอกงามของ กล้วยไม้มาก และกล้วยไม้ป่าที่ในพบในภูมิภาคแถบนี้มีลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แตกต่างจากกล้วยไม้ในภูมิภาคลาตินอเมริกา
การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทย จากการสำรวจในอดีตพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้อยู่ในป่าธรรมขาติ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชนิด ทั้งประเภทที่พบอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของภูเขาและบนพื้นดิน สรุปได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงาม ของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้ายไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำกล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ไกล้ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวัน ตกผู้หนึ่ง ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่ายๆ และนำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอเชียและเอเซียแปซิฟิค โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูงและบรรดา ข้าราชการที่ใกล้ชิด ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลสูงอายุซึ่งเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และเป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยมและยกย่องเฉพาะพันธุ์ ที่หายากและมีราคาแพง

กล้วยไม้สายพันธุ์ต่างๆ

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ Aerides




 กล้วยไม้สกุลกุหลาบ (Aerides)  เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย

และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือ


ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด 


เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อ


ห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือ


ปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอก


ผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ 


สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า 


(Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis) 



กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum






                                                       


กล้วยไม้สกุลเข็มได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง


กล้วยไม้สกุลแคทลียา Cattleya



แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เนื่องจากแคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุดและสีสวยงามที่สุด บางชนิดมีกลิ่นหอม และถือกันว่าแคทลียาเป็น ราชินีแห่งกล้วยไม้ และเป็นสัญลักษณ์สากลของกล้วยไม้ทั่วไป
            แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนเหนือ เป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตและมีรูปทรงแบบซิมโพเดี้ยล คือมีเหง้าแนบไปตามเครื่องปลูก เหง้าอาจจะมีทั้งยาวและสั้น มีรากงอกเจริญจากเหง้า ไม่มีรากแขนง เป็นระบบรากกึ่งอากาศดูดอาหารจากอากาศและเครื่องปลูก แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วย มีหลายลักษณะ บางชนิดลำลูกกล้วยเป็นข้อปล้อง รูปทรงของลำป่องตรงกลางหรือค่อนไปข้างบนของลำเล็กน้อย มีหน้าที่เก็บสะสมอาหาร เหนือข้อที่โคนลำจะมีตา ตา คือตาซ้าย และตาขวา เป็นตาแตกลำใหม่ง่ายที่สุด บางชนิดที่ลำลูกกล้วยอ้วนป้อม บางชนิดเป็นรูปทรงกระบอกหรือบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ผิวพื้นของลำอาจเกลี้ยงหรือเป็นร่องตามความยาวของลำ เมื่อกล้วยไม้เจริญเติบโต ลำที่ 1 หรือเรียกว่าลำหลัง จะแตกตาออกแล้วเจริญเป็นลำที่ หรือเรียกว่าลำหน้า เมื่อลำที่ เจริญดีแล้วก็จะแตกตาออกเป็นลำที่ และที่ ออกไปเรื่อยๆ บางครั้งตาแตกออกเป็น ทางเรียกว่า ไม้ หน้า จึงทำให้ดูเป็นกอใหญ่ โดยมีเหง้าเป็นส่วนที่เชื่อมโยงของลำลูกกล้วยลำต่อลำ และเป็นส่วนของลำที่เจริญออกจากลำเดิม

แคทลียามีใบเกิดที่ส่วนปลายลำลูกกล้วยเท่านั้น ในลำใหม่ที่กำลังเจริญใบส่วนมากแบน แต่บางชนิดใบกลมรูปทรงกระบอก ใบอาจมีหรือไม่มีกาบ รูปลักษณะค่อนข้างหนาแข็ง แต่ไม่เปราะ ลำลูกกล้วยลำหนึ่งอาจจะมีใบเพียงใบเดียวหรือสองใบก็ได้ ลักษณะของใบใช้ในการแบ่งประเภทของกล้วยไม้สกุลแคทลียา โดยแบ่งออกเป็น ประเภท คือ
  1. ประเภทใบเดี่ยว เป็นแคทลียาประเภทที่ปลายลำลูกกล้วยมีใบเพียงใบเดียวเท่านั้น แคทลียาประเภทนี้มักออกดอกน้อย ช่อหนึ่งอาจมีเพียง หรือ ดอกเท่านั้น ลักษณะดอกใหญ่ ช่อดอกสั้น
  2. ประเภทใบคู่ เป็นแคทลียาประเภทที่ลำลูกกล้วยมี ใบ อาจจะมีใบถึง ใบก็ได้ แคทลียาประเภทนี้จะออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีหลายดอก ดอกเล็กช่อยาว
แคทลียาออกดอกที่ปลายลำลูกกล้วย เมื่อออกดอกจะออกลำหน้าซึ่งเมื่อมีลำหน้าหลายลำเวลาออกดอกจะออกดอกทีละมากๆ บางครั้งอาจมีถึง 10 ช่อ การออกดอกในแต่ละช่อ ช่อดอกหนึ่งๆ อาจมีดอกเพียง ดอก, 2 ดอก, 3 ดอก หรือบางชนิดอาจมีถึง 10 ดอกก็ได้ ลักษณะของกลีบดอกมีกลีบนอก กลีบ อยู่ข้างบน กลีบ ข้างล่าง กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน กลีบในมี กลีบ กลีบใน กลีบบนมีรูปร่างเหมือนกัน โดยปกติมีขนาดใหญ่กว่ากลีบนอก กลีบในที่ อยู่ที่ตอนล่างมีรูปร่างไม่เหมือนกับกลีบในบน กลีบจะม้วนทั้ง ข้างเรียกว่า ปาก หรือ กระเป๋า ปากมีหูกว้าง ริมปากหยักเป็นคลื่นและมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ ภายในปากมีเส้นเกสรค่อนข้างยาวและโค้งเล็กน้อยยื่นออกมา แคทลียามีเกสรตัวผู้อยู่ตอนปลายเส้าเกสรเป็นคู่มี คู่ เกสรตัวเมียอยู่ตอนล่าง เส้าเกสรนี้เป็นที่รวมของอวัยวะตัวเมียซึ่งมีรังไข่อยู่ติดกับเส้าเกสรด้านล่างเห็นเป็นลักษณะคอดเล็กยาวชัดเจนเมื่อติดฝัก ซึ่งฝักนี้จะมีเมล็ดเป็นผงเล็กมากอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก เมื่อแก่จัดฝักก็จะแตกและเมล็ดจะแพร่กระจายปลิวไปตกยังที่ต่างๆ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะงอกเจริญเป็นต้นใหม่และขยายพันธุ์ต่อไปตามวงจรชีวิตธรรมชาติ.


กล้วยไม้สกุลช้าง Rhynchostylis



 จากการสำรวจพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างที่มีอยู่ในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่งแต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง ชนิด คือ ช้าง (Rhynchostylis gigantea) ไอยเรศหรือพวงมาลัย (Rhynchostylis retusa) เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis) และช้างฟิลิปปินส์ (Rhynchostylis violacea) สำหรับ ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนช้างฟิลิปปินส์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์


กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ มีลำต้นสั้น แข็งแรง ใบแข็ง หนาค่อนข้างยาว อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจางๆ หลายๆ เส้นตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่าๆ กับความยาวของใบ ดอกมีเป็นจำนวนมากแน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็กๆ 3ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้นๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บ้างต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ 

กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีส Phalaenopsis



กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีสปลูกเลี้ยงกันในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีผู้สนใจมากนักเนื่องจากดอกมีขนาดเล็กแต่ปัจจุบันกล้วยไม้สกุลนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอกและสีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกสนใจการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้มากขึ้น
กล้วยไม้ฟาแลนอปซีส มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ บอร์เนียว ชวา สุมาตรา มาเลเซีย สำหรับประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลนี้อยู่ 2-3 ชนิด เช่น เขากวาง กาตาฉ่อ ขนาดของดอกมีใหญ่และเล็กตามลักษณะของพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันอยู่ในขณะนี้เป็นพันธุ์ลูกผสม ที่มีการปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนดอกกลมใหญ่ ลักษณะของลำต้นทรงเตี้ยตรง การเจริญเติบโตเป็นแบบโมโนโพเดี้ยล ใบอวบน้ำ ค่อนข้างหนาแผ่แบนรูปคล้ายใบพาย ดอกกลมใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 5-ซม. กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพูสีเหลือง มองดูดอกแล้วงาม ทั้งฟอร์มดอกและสี ก้านช่อยาว บางช่อยาวถึง 80 ซม. ช่อหนึ่งมีหลายดอก เรียงไปตามก้านช่ออย่างมีระเบียบ บางต้นแยกออกเป็นหลายช่อ ดอกบานทน ถ้าบานอยู่กับต้นสามารถบานอยู่ได้นานเป็นเดือน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายสามารถเจริญงอกงามและออกดอกให้ได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังสามารถผสมข้ามสกุลกับสกุลกล้วยไม้สกุลต่างๆ ได้หลายสกุล เช่น ผสมกับสกุลแวนด้า ผสมกับสกุลอะแรคนิส ผสมกับสกุลเรแนนเทอร่า เป็นต้น               การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนอปซีสลงกระถางหรือกระเช้าไม้ ควรตั้งต้นกล้วยไม้ตรงกลางให้โคนต้นส่วนเหนือรากอยู่ต่ำกว่าระดับขอบภาชนะปลูกเล็กน้อย การวางต้นกล้วยไม้สูงเกินไปจะทำให้รากกล้วยไม้ได้รับความชื้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าปลูกต่ำเกินไปกล้วยไม้ก็จะอยู่ในสภาพที่ชื้นหรือแฉะเกินไป การใส่เครื่องปลูกควรใส่แค่กลบรากเท่านั้น อย่าใส่เครื่องปลูกมากเกินไปจนกระทั่งสูงขึ้นมากลบส่วนของส่วนโคนต้นเพราะอาจจะทำให้โคนต้นแฉะและโคนใบเน่าได้ การปลูกควรปลูกก่อนเข้าฤดูฝนคือประมาณเดือนมีนาคม ถ้าปลูกในฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูงและกล้วยไม้กำลังอวบน้ำ อาจทำให้ใบและยอดเน่าได้

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี Paphiopedilum


  กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอก หรือที่เรียกว่า “กระเป๋า” มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
            กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง
            รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วน
กลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤกษาศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้
            โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป 


แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด
            กล้วยไม้สกุลแวนด้าพบในป่าตามธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด มีกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น ประเภท คือ

             1.แวนด้าใบกลม มีลักษณะของใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก แต่ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2–3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ             2.แวนด้าใบแบน ลักษณะใบแผ่แบนออก ถ้าตัดมาดูหน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก 

 3.แวนด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน

            4.แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน พบตามป่าธรรมชาติน้อยมาก เพราะกล้วยไม้พันธุ์นี้เป็นหมันทั้งสิ้น


            ในบรรดาแวนด้าทั้ง ประเภทนี้ แวนด้าใบกลมเป็นแวนด้าที่เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องมีโรงเรือน แต่ดอกมักจะบานไม่ทน ส่วนที่เลี้ยงยากที่สุดคือ แวนด้าใบแบน มีหลายพันธุ์ ทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก แต่ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฟ้ามุ่ย เพราะดอกใหญ่ สีสวย การเลี้ยงแวนด้าใบแบนจำเป็นต้องมีโรงเรือนเพราะต้องการแสงที่พอเหมาะ สำหรับแวนด้าใบร่องเป็นลูกผสมระหว่างใบกลมและใบแบน ถูกผสมขึ้นเพื่อให้ปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ดอกมักจะสีไม่สวยและปากหักง่าย

กล้วยไม้สกุลหวาย Dendrobium


 กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์
          กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ
          กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวก “เอื้อง” ต่างๆ 

วิธีการปลูกกล้วยไม้


วิธีการปลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบังคับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ถ้าใช้วิธีการปลูกที่ไม่เหมาะสม กล้วยไม้ก็ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของกล้วยไม้แต่ละชนิด เลือกภาชนะปลูกและเครื่องปลูก รวมทั้งวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ 

1.ภาชนะปลูก

ภาชนะที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้มีส่วนสำคัญต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้ ดังนั้นจึงควรจัดภาชนะปลูกให้เหมาะกับการเจริญของรากกล้วยไม้แต่ละประเภท ภาชนะสำหรับปลูกกล้วยไม้มีหลายชนิด ดังนี้
         
                                                                 กระถางดินเผาทรงเตี้ย
เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 4-6 นิ้ว สูง 2-4 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถาง เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ มะพร้าวสับ วางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระถาง
                                                                  กระถางดินเผาทรงสูง  ป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 3-4 นิ้ว สูง 4-5 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถางแต่รูน้อยกว่ากระถางทรงเตี้ย เหมาะกับกล้วยไม้ที่ต้องการเครื่องปลูกหรือกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น คัทลียา หวาย โดยปลูกด้วยกาบมะพร้าวอัดเรียงตามแนวตั้งจนแน่น ยึดรากและโคนกล้วยไม้ตรงกลางกระถางให้แน่น
                                                                       กระเช้าไม้สัก
ทำจากไม้สักหรือไม้ชนิดอื่น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีขนาดตั้งแต่ขนาด 4x4 นิ้ว ถึง 10x10 นิ้ว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ มีต้นใหญ่ รากใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกด้วยกระเช้าไม้สักภายในไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ 2-3 ก้อนวางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระเช้า
                                                                   กระเช้าพลาสติก
เป็นกระเช้าที่ทำจากพลาสติกสีดำ ราคาถูก มีหลายแบบ หลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ ขนาดทรงเตี้ยใช้ปลูกกล้วยไม้แวนด้า และ ขนาดทรงสูงใช้ปลูกกล้วยไม้หวาย ลักษณะการปลูกเช่นเดียวกับกระถางดินเผาทรงเตี้ยและกระถางดินเผาทรงสูง
                                                              กระถางดินเผามีรูก้นกระถาง
เป็นกระถางดินเผาชนิดเดียวกับที่ใช้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีรูระบายน้ำอยู่ที่ก้นกระถางเพียงรูเดียว ทั้งแบบทรงสูงทั่วไปและแบบทรงเตี้ย มีขนาดตั้งแต่ 4-10 นิ้ว นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลคูลู และสกุลสเปโธกล๊อตติส
                                                                  ท่อนไม้ที่มีเปลือก
โดยผูกกล้วยไม้ติดกับท่อนไม้ที่มีเปลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายหนึ่งของท่อนไม้ยึดติดกับลวดไว้สำหรับแขวนกับราว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลแวนด้า
                                                                      ต้นไม้ใหญ่
โดยการปลูกยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศและรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลหวาย สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากอากาศสามารถใช้ลวดหรือเชือกผูกติดกับต้นไม้ได้เลย แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากกิ่งอากาศให้หุ้มด้วยกาบมะพร้าวทับอีกชั้นหนึ่ง ยึดกาบมะพร้าวด้วยตาข่ายหรือซาแลนอีกชั้นหนึ่ง

2.เครื่องปลูก



 วัสดุที่ใส่ลงไปในภาชนะที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ เป็นที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และเพื่อให้รากของกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะได้ตั้งอยู่ได้ เครื่องปลูกที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง เครื่องปลูกที่นิยมใช้มีดังนี้

  • ออสมันด้า
              เป็นเครื่องปลูกที่ได้มาจากรากของเฟิร์น ลักษณะเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลจนเกือบดำ ค่อนข้างแข็ง ก่อนที่จะใช้ต้องล้างให้สะอาด แล้วจึงอัดตามยาวลงไปในกระถาง ก่อนที่จะอัดลงในกระถางควรรองก้นกระถางด้วยกระเบื้องแตกหรือถ่านประมาณครึ่งหนึ่งของกระถาง เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกไม่ควรอัดออสมันด้าให้เต็มกระถาง ก่อนใช้ควรแช่น้ำหรือต้มเพื่อฆ่าเชื้อราเสียก่อน ออสมันด้าเป็นเครื่องปลูกที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ได้เจริญงอกงามสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งาน 2–3 ปี แต่มีข้อเสีย คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นหน้าเครื่องปลูก และเกิดเชื้อราง่าย ออสมันด้าใช้ปลูกกล้วยไม้แบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา


  • กาบมะพร้าว
                เป็นเครื่องปลูกที่นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้มาก เพราะหาง่าย ราคาถูก เหมาะที่จะใช้อัดลงในกระถางดินเผาสำหรับใช้ปลูกกล้วยไม้รากกึ่งอากาศเช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา วิธีทำคือใช้กาบมะพร้าวแห้งที่แก่จัดและมีเปลือก อัดตามยาวให้แน่นลงในกระถาง ตัดหน้าให้เรียบ แล้วใช้แปรงลวดปัดหน้าให้เป็นขน เพื่อให้ดูดซับน้ำดีขึ้น เครื่องปลูกกาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกที่ได้ความชื้นสูง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพราะจะทำให้ตั้งตัวเร็ว จึงทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามเร็วกว่าปลูกด้วยเครื่องปลูกชนิดอื่นๆ แต่มีข้อเสียคือมีอายุการใช้งานได้ไม่นาน คือมีอายุใช้งานได้เพียงปีเดียวเครื่องปลูกก็ผุ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือเกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย เนื่องจากกาบมะพร้าวอมความชื้นไว้ได้มาก จึงควรรดน้ำให้น้อยกว่าเครื่องปลูกชนิดอื่น

  • ถ่าน
                 ถ่านไม้จัดเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง เพราะหาง่าย ราคาไม่แพง คงทนถาวร ไม่เน่าเปื่อยผุพังง่ายและดูดอมน้ำได้ดีพอเหมาะไม่ชื้นแฉะเกินไป ยังช่วยดูดกลิ่นที่เน่าเสียและทำให้อากาศบริสุทธ์อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือมักจะมีเชื้อราอยู่ ในการใช้ถ่านเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลแคทลียา ควรใช้ถ่านป่นซึ่งเป็นก้อนเล็กๆ ผสมกับอิฐ หรือใช้อิฐหักรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใช้ถ่านป่นใส่ทับข้างบนจนเต็มหรือเกือบเต็มกระถาง จากนั้นจึงเอากล้วยไม้ปลูกโดยวางทับไว้บนถ่านอีกชั้นหนึ่ง สำหรับถ่านที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กหรือยังเป็นลูกกล้วยไม้อยู่ เช่น มีขนาดสูงไม่เกิน 3 นิ้ว ควรใส่ถ่านก้อนเล็กๆ หรือใส่ถ่านป่นไว้บ้างพอสมควร แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดโดแล้วควรใส่ก้อนใหญ่ๆ ไว้ประมาณ 5-10 ก้อน เพื่อช่วยอุ้มความชุ่มชื้นไว้ให้กล้วยไม้ การที่ใส่ถ่านก้อนโตๆ จำนวนเล็กน้อยในการปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศก็เพื่อต้องการให้บริเวณภายในกระถางมีช่องว่างมากๆ และโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเหมาะแก่ความต้องการหรือความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ



  • ทรายหยาบและหินเกล็ด
                 การปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศโดยเฉพาะพวกสกุลหวาย มักใช้ทรายหยาบและหินเกล็ดที่ล้างสะอาดแล้วเป็นเครื่องปลูก โดยก้นกระถางใส่อิฐหักหรือหรือถ่านป่นไว้ ส่วนด้านบนใช้ทรายหยาบโรยหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยหินเกล็ดหนาประมาณครึ่งนิ้ว จากนั้นจึงนำหน่อกล้วยไม้ที่แยกจากกอเดิมไปปลูกวางไว้บนหินเกล็ด แล้วมัดติดกับหลักเพื่อยึดไม่ให้ล้มจนกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้มีรากยึดเครื่องปลูกและตั้งตัวได้

  • อิฐหักและกระถางดินเผาแตก
                อิฐหัก อิฐดินเผา และกระถางดินเผาแตก ใช้เป็นเครื่องปลูกรองก้นกระถางสำหรับปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ โดยมีออสมันด้า กาบมะพร้าว ถ่านป่น อย่างใดอย่างหนึ่งอัดหรือโรยไว้ข้างบน เพื่อให้ด้านล่างของกระถางหรือภาชนะปลูกโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวกและเป็นการช่วยในการระบายน้ำในกระถางได้ดีขึ้น



         
      วิธีการปลูก
  • การล้างลูกกล้วยไม้
             คือการล้างลูกกล้วยไม้จากการเพาะเนื้อเยื่อออกจากขวดเพาะแล้วล้างให้หมดเศษวุ้นอาหาร นำจุ่มลงในน้ำยานาตริฟินในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 2,000 ส่วน แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แยกลูกกล้วยไม้ออกเป็น 2 ขนาด คือ ขนาดเล็กกับขนาดใหญ่พอจะปลูกลงในกระถางนิ้ว
  • การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดเล็ก
              ลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กให้ปลูกในกระถางหมู่หรือกระถางดินเผาทรงสูงขนาด 4-6 นิ้ว รองก้นกระถางด้วยถ่านขนาดประมาณ 1 นิ้ว สูงจนเกือบถึงขอบล่างของกระถาง แล้วโรยทับด้วยออสมันด้าหนาประมาณ 1 นิ้ว ให้ระดับออสมันด้าต่ำกว่าขอบกระถางประมาณครึ่งนิ้ว ใช้มือข้างหนึ่งจับไม้กลมๆ เจาะผิวหน้าออสมันด้าในกระถางให้เป็นรูลึกและกว้างพอสมควร ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับปากคีบ คีบลูกกล้วยเบาๆ เอารากหย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้ ให้ยอดตั้งตรง แล้วกลบออสมันด้าลงไปในรูให้ทับรากจนเรียบร้อย ควรจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอดี กระถางหมู่ขนาดปากกว้าง 4 นิ้ว ปลูกลูกกล้วยไม้ได้ประมาณ 40-50 ต้น
  • การปลูกลูกกล้วยไม้ขนาดใหญ่
              ลูกกล้วยไม้ที่ต้นใหญ่ให้ปลูกในกระถางขนาด 1 นิ้ว ใช้ไม้แข็งๆ ค่อยๆ แคะออสมันด้าในกระถางตามแนวตั้งออกมาใช้นิ้วมือรัดเส้นออสมันด้าให้คงเป็นรูปตามเดิม ค่อยๆ แบะออสมันด้าให้แผ่บนฝ่ามือ หยิบลูกกล้วยไม้มาวางทับ ให้โคนต้นอยู่ในระดับผิวหน้าตัดของออสมันด้าพอดี หรือต่ำกว่าเล็กน้อย แล้วรวบออสมันด้าเข้าด้วยกัน นำกลับไปใส่กระถางตามเดิม เสร็จแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในเรือนเลี้ยงลูกกล้วยไม้ สำหรับลูกกล้วยไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในกระถางหมู่มาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป มีลำต้นใหญ่แข็งแรงพอสมควรแล้วควรย้ายไปปลูกลงในกระถางนิ้ว โดยนำกระถางหมู่ไปแช่น้ำประมาณ 10 นาที ค่อยๆ แกะรากที่จับกระถางและเครื่องปลูกออก แยกเป็นต้นๆ นำไปปลูกลงในกระถางนิ้วเช่นเดียวกัน
  • การปลูกลงในกระเช้า
             เมื่อลูกกล้วยไม้ในกระถางนิ้วมีรากเจริญแข็งแรงดี มีใบยาวประมาณข้างละ 2 นิ้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการปลูกประมาณ 6-7 เดือน ก็นำไปลงปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 3-5 นิ้ว ด้วยการนำกระถางนิ้วไปแช่น้ำประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้แกะออกจากกระถางได้ง่าย ใช้นิ้วดันที่รูก้นกระถาง ทั้งต้นและออสมันด้าจะหลุดออกมา มือข้างหนึ่งจับออสมันด้าและลูกกล้วยไม้วางลงตรงกลางกระเช้าที่เตรียมไว้ มืออีกข้างหนึ่งหยิบก้อนถ่านไม้ขนาดพอเหมาะใส่ลงไปในช่องระหว่างออสมันด้ากับผนังของกระเช้าให้พยุงลำต้นได้ นำไปแขวนไว้ในเรือนกล้วยไม้
  • การย้ายภาชนะปลูก
             เมื่อลูกกล้วยไม้มีใบยาว 4-5 นิ้ว ควรจะย้ายไปปลูกในกระเช้าไม้ขนาด 8-10 นิ้ว โดยสวมกระเช้าเดิมลงไปในกระเช้าใหม่เพื่อมิให้รากกระทบกระเทือน ใช้ก้อนถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ วางเกยกันโปร่งๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ได้ เนื่องจากกล้วยไม้ไม่ต้องการเครื่องปลูกที่แน่นและชื้นแฉะเป็นเวลานานๆ ถ้าไม่ต้องการสวมกระเช้าเดิมลงไปก็นำกระเช้าเดิมไปแช่น้ำก่อน เพื่อให้แกะรากที่จับติดกระเช้าออกได้ง่าย นำต้นที่แกะออกแล้ววางตรงกลางกระเช้า ให้ยอดตั้งตรง มัดรากบางรากให้ติดกับซี่พื้นด้านข้างของกระเช้า
  • การตกแต่งกล้วยไม้ต้นใหญ่ก่อนปลูก
                สำหรับกล้วยไม้ลำต้นใหญ่ที่ได้มาจากที่อื่นหรือจากการแยกหน่อ จะต้องตัดรากและใบที่เน่าหรือเป็นแผลใหญ่ๆ ทิ้งเสียก่อน รากบางส่วนที่ยังดีแต่ยาวเกินไป อาจตัดให้สั้นจนเกือบถึงโคนต้น แล้วทาแผลที่ตัดทุกแผลด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันโรค เช่น ออร์โธไซด์ 50 ผสมน้ำให้เละมากๆ นำต้นกล้วยไม้ลงปลูกในกระเช้าไม้ซึ่งมีขนาดเหมาะสมกับลำต้น
            นอกจากนั้นยังอาจนำกล้วยไม้ต้นใหญ่ไปผูกติดกับท่อนไม้หรือกระเช้าสีดา ให้บริเวณโคนต้นติดอยู่กับภาชนะปลูก ส่วนยอดอาจตั้งตรงทาบขึ้นไปหรือลำต้นโน้มไปข้างหน้าและส่วนยอดเงยขึ้น มัดลำต้นตรงบริเวณเหนือโคนต้นขึ้นไปเล็กน้อยให้ติดกับภาชนะปลูกด้วยเชือกฟางหรือลวด 1-2 จุดและมัดรากใหญ่ๆ ให้ติดกับภาชนะปลูกอีก 1-2 จุด เพื่อให้ติดแน่น อาจใช้กาบมะพร้าวกาบอ่อนชุบน้ำให้ชุ่ม มัดหุ้มบางๆ รอบโคนต้นกล้วยไม้เหนือบริเวณที่เกิดรากเล็กน้อยกับท่อนไม้ก็ได้ และนำท่อนไม้หรือกระเช้าสีดาไปแขวนบนราวเมื่อเกิดรากใหม่เกาะติดภาชนะปลูกดีแล้ว จึงตัดเชือกฟางหรือลวดออก

การดูแลรักษากล้วยไม้

การให้น้ำ 

          น้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ต้องเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณเกลือแร่ไม่สูงเกินไป เพราะจะเป็นพิษต่อระบบรากทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ควรรดใน เวลาเช้าหรือบ่าย โดยใช้สายยางต่อกับหัวฉีดแบบฝอยละเอียด ลดการกระแทกที่ทำให้ดอก ใบช้ำ แต่ในช่วงที่ฝนตกหนักควรงดการให้ น้ำ 2-3 วัน รอจนกระทั่งเครื่องปลูกเริ่มแห้งจึงให้น้ำใหม่ ถ้าเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาวควรรดน้ำให้บ่อยขึ้น 
           น้ำ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายสารอาหารต่างๆ เพื่อให้รากของกล้วยไม้สามารถดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ กล้วยไม้ต้องการน้ำที่สะอาดปราศจากเกลือแร่ที่เป็นพิษ มีความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 แต่น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดต่อความต้องการของกล้วยไม้ คือ น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ มีค่า pH ประมาณ 6.5 น้ำที่มี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 จึงไม่ควรนำมาใช้รดกล้วยไม้ การทดสอบคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำแบบง่ายๆ คือ ทดสอบด้วยกระดาษลิสมัส ในการเลี้ยงกล้วยไม้ถ้าน้ำมี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำนี้รดกล้วยไม้ เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำที่มีคุณสมบัติดีกว่า ควรทำให้น้ำมี pH อยู่ระหว่าง 6-7 ก่อน ดังนี้ 
           - น้ำที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 คือน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างมาก แก้ไขโดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ตุ่มหรือโอ่งไว้แล้วใช้ โซเดียมไฮดร็อกไซด์ ค่อยๆ เทใส่ลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนทั่ว ทำการทดสอบระดับ pH จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 
           - น้ำที่มีค่า pH สูงกว่า 7 คือน้ำที่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนตปนอยู่ในน้ำแสดงว่าน้ำนั้นมีความเป็นด่างมากไม่เหมาะที่จะนำไปรดกล้วยไม้ วิธีแก้หรือทำให้น้ำนั้นมี pH อยู่ที่ 6-7 ก่อน โดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่มหรือโอ่งไว้ แล้วใช้ กรดไนตริก ค่อยๆ เทใส่ลงไป คนหรือกวนให้เข้ากันจนทั่ว จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7


           วิธีการการให้น้ำ 

           วิธีการให้น้ำกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อายุของกล้วยไม้ และความสะดวกของผู้ปลูกเลี้ยงเอง ซึ่งวิธีการให้น้ำมีดังนี้ 
           - จุ่มน้ำ โดยตักน้ำใส่ภาชนะแล้วนำกล้วยไม้มาจุ่มลงในน้ำ การจุ่มน้ำมีข้อดีคือน้ำจะซึมไปทั่วทุกส่วนของเครื่องปลูก เหมาะกับกล้วยไม้ที่ไม่มีรากเกะกะ เช่น สกุลหวาย สกุลแคทลียา มีเครื่องปลูกแน่น เช่น กาบมะพร้าวอัด ออสมันด้าอัด หรือเครื่องปลูกหนัก เช่น อิฐ กรวด ถ้าเครื่องปลูกเบา เช่น ถ่าน ถ่านจะลอย การรดน้ำวิธีนี้เป็นการล้างเครื่องปลูกให้สะอาดอยู่เสมออีกด้วย ข้อเสียคือการจุ่มน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ รากอ่อน หน่ออ่อน ไปกระทบกระแทกกับภาชนะที่ใส่น้ำได้ และถ้ากล้วยไม้มีโรคแมลงอาศัยอยู่ น้ำในภาชนะอาจเป็นพาหะให้โรคแมลงระบาดได้ง่าย และการให้น้ำวิธีนี้ไม่เหมาะกับปริมาณกล้วยไม้มากๆ เพราะเป็นวิธีที่ช้ามาก เหมาะกับกล้วยไม้จำนวนน้อย และปลูกเลี้ยงในที่ไม่ต้องการให้พื้นเฉอะแฉะ เช่นระเบียงบ้าน ริมหน้าต่าง เป็นต้น 
           - ไขน้ำให้ท่วม โดยทำโต๊ะปลูกกล้วยไม้ที่ขังน้ำได้ เวลาจะให้น้ำก็ไขน้ำให้ขังเต็มโต๊ะ ทิ้งไว้จนเห็นว่าเครื่องปลูกดูดซับน้ำเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออก วิธีนี้ทำได้รวดเร็วกับกล้วยไม้จำนวนมาก ไม่ทำให้กล้วยไม้ไม่บอบช้ำ แต่ป้องกันโรคระบาดจากแมลงได้ยาก 
           - ใช้บัวรดน้ำ วิธีนี้มีข้อดีคือต้นทุนต่ำ ส่วนข้อเสียคือถ้ามีกล้วยไม้จำนวนมากจะต้องใช้เวลาในการรดน้ำมาก หรือถ้าขาดความระมัดระวังฝักบัว ก้านบัว อาจจะกระทบต้น กระทบดอกกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำได้ 
           - สายยางติดหัวฉีด การใช้สายยางควรใช้หัวฉีดชนิดฝอยละเอียด การรดน้ำวิธีนี้สะดวก รวดเร็วและทุ่นแรง เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก 
           - สปริงเกอร์ คือการใช้หัวฉีดติดตั้งอยู่กับที่แล้วพ่นน้ำเป็นฝอยให้กระจายไปทั่วบริเวณที่ต้องการ การรดวิธีนี้สะดวกสบายและรวดเร็วที่สุด ข้อเสียคือต้องลงทุนสูงและใช้ได้กับกล้วยไม้ที่มีความต้องการน้ำเหมือนๆ กัน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงกล้วยไม้จำนวนน้อย แต่หลากหลายชนิด

           
เวลาที่เหมาะสมแก่การให้น้ำ 


           การรดน้ำกล้วยไม้ปกติควรรดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตกหรือกระถางและเครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00-9.00 น. เพราะนอกจากจะไม่ร้อนแล้วจะมีช่วงเวลาที่มีแสงแดดยาวนาน กล้วยไม้มีความจำเป็นต้องใช้แสงแดดไปช่วยในการปรุงอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ฉะนั้นช่วงเวลากลางวันจึงเป็นเวลาที่กล้วยไม้ต้องใช้รากดูดความชื้นและนำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากที่สุด การรดน้ำในเวลาเช้าจึงได้รับประโยชน์มากที่สุด ในการรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้เปียก เพื่อเป็นการชะล้างเศษปุ๋ยที่เหลือตกค้างซึ่งอาจเป็นพิษแก่กล้วยไม้ให้ไหลหลุดไป ไม่ควรรดน้ำแรงๆ หรือรดน้ำอยู่กับที่นานๆ ควรรดแบบผ่านไปมาหลายๆ ครั้งจนเปียกโชก ทั้งนี้เพื่อให้กระถางและเครื่องปลูกมีโอกาสดูดซึมอุ้มน้ำไว้เต็มที่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้ถูกเฉพาะรากกระถางและเครื่องปลูกเท่านั้น ไม่ควรรดน้ำให้ถูกเรือนยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีเรือนยอดใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ที่เรือนยอดซึ่งอาจทำให้เกิดโรคยอดเน่าได้ 


การให้ปุ๋ย 

          ให้ปุ๋ยทุก ๆ 7 วัน โดยใช้ปุ๋ยละลายน้ำ สูตรสูง เช่น สูตร 20-20-20 ในระยะเริ่มปลูกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตทางลำต้น และใบเมื่อต้นกล้วยไม้เจริญถึงระยะให้ดอกหรือต้องการเร่งให้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงไม่ควรฉีดพ่น ปุ๋ยในช่วงที่มีแดดจัด เพราะจะทำให้น้ำที่ละลายปุ๋ยระเหยไปอย่างรวดเร็วทำให้กล้วยไม้ไม่สามารถดูดปุ๋ยไปใช้ได้ และยังทำให้ความเข้มข้นของปุ๋ยสูงขึ้น อาจทำให้ใบไหม้หลังจากให้ปุ๋ยแล้ว ในวันรุ่งขึ้นต้องรดน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชะล้างเกลือแร่ของปุ๋ยที่ตกค้างอยู่บนเครื่องปลูกและรากออก 
          นอกจากการให้ปุ๋ยแล้ว ผู้ปลูกเลี้ยงต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและยาป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมออาจให้พร้อม ๆ กับการรดน้ำหรือให้ปุ๋ย หากมีการระบาดของโรค และแมลงก็ต้องเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับโรคและแมลงชนิดนั้น ๆ


          ปุ๋ย ที่นำมาให้กับกล้วยไม้ 

          โดยทั่วไปนิยมใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในการปลูกกล้วยไม้ เพราะนอกจากจะละลายน้ำได้ดี สะดวกในการใช้ ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนตามความต้องการของกล้วยไม้ด้วย ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับกล้วยไม้มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะเป็นน้ำ เป็นเกล็ดละลายน้ำ และเป็นเม็ดละลายช้า 
          - ปุ๋ยน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารละลายอยู่ในรูปของของเหลว เมื่อต้องการใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำตามส่วนที่ระบุบนฉลาก ข้อดีของปุ๋ยน้ำคือละลายง่าย กล้วยไม้สามารถดูดไปใช้ได้เลย ไม่ตกค้างอยู่ในเครื่องปลูก ซึ่งถ้ามีปุ๋ยตกค้างอยู่ในเครื่องปลูกมากอาจเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ได้ 
          - ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นผสมอยู่ตามสัดส่วน เมื่อจะใช้ต้องนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุปุ๋ย ปุ๋ยผงบางชนิดละลายน้ำได้ดี แต่บางชนิดละลายไม่หมด ปุ๋ยผงจึงไม่เหมาะสำหรับรดกล้วยไม้มากเท่ากับปุ๋ยน้ำ 
          - ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เป็นปุ๋ยชนิดเม็ดเคลือบที่ภายในบรรจุปุ๋ยไว้เพื่อให้ปุ๋ยค่อยๆ ละลายออกมาอย่างช้าๆ ปุ๋ยชนิดนี้จึงใส่เพียงครั้งเดียวจึงสามารถอยู่ได้นานหลายเดือน จึงทำให้ง่ายในการใช้ ประหยัดแรงงานไม่ต้องใส่บ่อยๆ แต่ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาสูง และเหมาะกับกล้วยไม้ที่มีเครื่องปลูกอย่างกล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและรากกึ่งอากาศ เช่น แวนด้า หวาย แคทลียา

          วิธีการให้ปุ๋ย 

          ระยะแรกของการปลูกกล้วยไม้ควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของลำต้นและใบ เมื่อต้นกล้วยไม้เจริญถึงระยะให้ดอกหรือต้องการเร่งให้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูงเพื่อกระตุ้นให้กล้วยไม้ออกดอก ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ในช่วงฤดูร้อนควรให้ปุ๋ยมากกว่าฤดูหนาวกับฤดูฝน ลูกกล้วยไม้ควรให้ปุ๋ยในอัตราที่อ่อนกว่ากล้วยไม้ใหญ่ ถ้าเป็นต้นที่โตเร็วและได้รับแสงแดดมากต้องให้ปุ๋ยมากกว่าพวกที่โตช้าและเลี้ยงในร่ม การให้ปุ๋ยควรให้สัปดาห์ละครั้ง การรดปุ๋ยกล้วยไม้ควรรดให้ถูกส่วนรากเพราะเป็นส่วนที่ดูดธาตุอาหารและน้ำได้ดีกว่าใบ และไม่ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำ 
          วิธีการให้ปุ๋ยกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ 
          - รดด้วยบัวรดน้ำชนิดฝอย การให้ปุ๋ยวิธีนี้ถ้ารดกล้วยไม้ที่แขวนราวหลายๆ ราว กล้วยไม้ที่อยู่ราวในๆ จะได้รับปุ๋ยไม่ทั่วถึง วิธีแก้ไขโดยแขวนกล้วยไม้เป็นแถวตามแนวตั้ง ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การรดน้ำหรือรดปุ๋ยด้วยฝักบัวและสะดวกแก่การบำรุงรักษาได้ทั่วถึงด้วย ถ้าใช้วิธีตั้งกล้วยไม้ไว้บนชั้นแล้วการรดน้ำหรือรดปุ๋ยด้วยวิธีนี้จะสะดวกขึ้น 
          - พ่นด้วยเครื่องฉีดชนิดฝอย เป็นวิธีที่เหมาะกับทุกลักษณะของกล้วยไม้ ไม่ว่าจะตั้งหรือแขวนกล้วยไม้ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ แต่ควรเป็นเครื่องฉีดชนิดสูบหรืออัดลม ข้อดีคือทำให้กล้วยไม้ได้รับปุ๋ยทั่วถึงโดยไม่เป็นอันตรายหรือบอบช้ำจากการกระทบกระเทือนหรือกระแสน้ำแรงเกินไป 
          - วิธีจุ่ม คือการให้ปุ๋ยโดยจุ่มกระถางกล้วยไม้ลงในน้ำปุ๋ยที่ผสมไว้ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่เปลืองน้ำปุ๋ยเพราะน้ำปุ๋ยไม่รั่วไหลไปไหนนอกจากติดไปกับกระถางกล้วยไม้ ความชุ่มของน้ำปุ๋ยในกระถางทั่วถึงดี ข้อเสียคือกล้วยไม้บางกระถางอาจมีโรคและแมลงอาศัยอยู่ เมื่อจุ่มลงในน้ำปุ๋ยโรคและแมลงจะปนออกมากับน้ำปุ๋ย เมื่อนำกระถางกล้วยไม้อื่นมาจุ่มจะทำให้ติดเชื้อโรคและแมลงนั้นได้ ฉะนั้นวิธีนี้จึงอาจเป็นสื่อติดต่อของโรคและแมลงได้ง่าย และถ้าหากไม่ใช้ความระมัดระวังแล้วหน่อที่แตกใหม่อาจจะกระทบกับความแข็งของภาชนะที่ใส่ปุ๋ยทำให้บอบช้ำและเน่าได้ 
          - ปล่อยน้ำปุ๋ยเข้าท่วมกระถางแล้วระบายออก วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการปลูกกล้วยไม้หรือต้นไม้กระถางในเรือนกระจกใหญ่ๆ โดยตั้งกระถางบนโต๊ะที่ทำเป็นอ่างเก็บน้ำได้ เมื่อต้องการให้ปุ๋ยก็ปล่อยน้ำปุ๋ยที่ผสมตามสัดส่วนให้เข้าไปท่วมกระถางกล้วยไม้ตามระยะกำหนดเวลาที่ต้องการ เมื่อเสร็จแล้วก็ระบายน้ำปุ๋ยออก วิธีนี้ถ้านำไปใช้กับบริเวณเนื้อที่ที่มีต้นไม้มากๆ และเป็นบริเวณที่ควบคุมสภาพของธรรมชาติแวดล้อมได้จะได้ผลดี 
          - ใช้เครื่องผสมปุ๋ยกับน้ำ เป็นเครื่องผสมปุ๋ยแบบอัตโนมัติที่ใช้ในการผสมปุ๋ยกับน้ำตามอัตราส่วนที่ต้องการ โดยต่อเครื่องเข้ากับท่อน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ ภายในเครื่องมีปุ๋ยละลายน้ำเข้มข้นอยู่ เมื่อรดน้ำ ปุ๋ยก็จะผสมไปกับน้ำแล้วพ่นออกไปสู่กล้วยไม้ผ่านไปทางหัวฉีดทันที เครื่องผสมปุ๋ยนี้สามารถจะปรับหรือตั้งเพื่อให้ปุ๋ยผสมไปกับน้ำตามอัตราความเข้มที่ต้องการได้ จึงเหมาะสำหรับสวนกล้วยไม้ที่มีจำนวนกล้วยไม้มากๆ สำหรับการให้ปุ๋ยชนิดเม็ดละลายช้าทำโดยโรยเม็ดปุ๋ยบริเวณเครื่องปลูกที่ใกล้กับรากของกล้วยไม้ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะที่บรรจุปุ๋ย

          
เวลาที่เหมาะแก่การให้ปุ๋ย 

          เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับการให้ปุ๋ยอยู่มาก เช่น ปุ๋ยจะเป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้ได้ต้องมีแสงสว่าง มีความอบอุ่น อุณหภูมิพอเหมาะและมีความชุ่มชื้นพอดี เป็นต้น แสงสว่างหรือแสงแดดที่เป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้คือแสงแดดในตอนเช้า ตั้งแต่เช้าจนถึง เวลาประมาณ 11.00 น. หลังจากนี้แสงแดดจะแรงและมีความร้อนสูงเกินไป การรดปุ๋ยในเวลาเช้า แสงแดดจะช่วยให้กล้วยไม้ได้ใช้ปุ๋ยได้เต็มที่ เพราะแสงแดดช่วยผลิตกำลังงานที่จะใช้ดูดปุ๋ยขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ การรดปุ๋ยควรรดสม่ำเสมออาทิตย์ละครั้ง เพื่อกล้วยไม้จะได้รับปุ๋ยหรืออาหารอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากวันที่ครบกำหนดให้ปุ๋ยอากาศครื้มฝนไม่ควรรดปุ๋ย เนื่องจากไม่มีแสงแดดช่วยกล้วยไม้ก็ไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และถ้าหากฝนตกปุ๋ยก็จะถูกชะล้างไปกับฝนโดยที่กล้วยไม้ไม่ได้รับประโยชน์จากปุ๋ยนั้นเลย จึงควรงดการให้ปุ๋ยในวันดังกล่าว และอาจเลื่อนการให้ปุ๋ยไปในวันถัดไป หรืออาจงดให้ปุ๋ยในอาทิตย์นั้นแล้วไปรดในอาทิตย์ถัดไปก็ได้


          ** ทำตามนนี้แล้วกล้วยไม้ที่บ้านคุณก็จะแข็งแรงและมีดอกเอาไว้เชยชมด้วย**